Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

คำขวัญจังหวัดน่าน

“แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง”


นามเมือง

          เมืองน่านมีที่มาของชื่อปรากฏในตำนานพระอัมภาคว่า“นันทสุวรรณนคร” ในตำนานเก่า ๆ เรียกเมืองน่านอีกคำหนึ่งว่า “กาวน่าน” ต่อมามีการเรียกชื่อเมืองน่านว่า “นันทบุรี” หรือ “นันทบุรีศรีนครน่าน” ที่มาของชื่อเมืองน่านมาจากชื่อแม่น้ำน่านอันเป็นที่ตั้งของเมืองที่อยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำน่านชื่อของเมืองน่านได้ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่าเมืองน่านคือตั้งแต่แรกตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน เมืองน่านแม้จะมีการเรียกชื่อใหม่ว่า “นันทบุรี” หรือ “นันทบุรีศรีนครน่าน” ซึ่งใช้กันในทางราชการในสมัยโบราณและศุภอักษร นามนันทบุรีเป็นนามที่ไพเราะและมีความหมายมงคลนามแต่ก็มีหลายพยางค์และเรียกยากจึงกลับมานิยมเรียกนามเมืองตามเดิมว่า “เมืองน่าน” ตลอดจนถึงปัจจุบัน


ที่ตั้งจังหวัด

          จังหวัดน่านเป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออกของภาคเหนือ ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางรถยนต์ประมาณ 668 กิโลเมตรมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7,170,045 ไร่ หรือ 11,472.076 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.23 ของพื้นที่ทั้งประเทศ พื้นที่จังหวัดน่านโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเขาและลาดชันประมาณ ร้อยละ 85 เหลือประมาณ ร้อยละ 15 เป็นพื้นที่ราบ

            - ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความยาวตามแนวชายแดนประมาณ 277 กิโลเมตร

            - ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดแพร่จังหวัดพะเยา

            - ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดแพร่และจังหวัดอุตรดิตถ์

            - มีจุดผ่านแดนสากล 1 จุด คือ ด่านบ้านห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นด่านตรงข้ามของ สปป.ลาว คือ บ้านน้ำเงิน เมืองเงิน แขวงไชยะบุลี และจุดผ่อนปรนการค้า 1 จุด คือ บ้านใหม่ชายแดน ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว


ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดน่าน

          จังหวัดน่านมีความแตกต่างกันของฤดูกาล โดยอากาศจะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน และหนาวเย็นในฤดูหนาว โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดพาเอาความชุ่มชื้นมาสู่ภูมิภาคทำให้มีผลตกชุกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน และจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาเอาความหนาวเย็นสู่ภูมิภาค ในเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ และในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ทำให้มีสภาพอากาศร้อน นอกจากนี้จังหวัดน่านยังมีสภาพภูมิประเทศโดยรอบเป็นหุบเขาและภูเขาสูงชันมาก ทิวเขาวางตัวในแนวเหนือใต้ทำให้บริเวณยอดเขาสามารถรับความกดอากาศสูงที่แผ่มาจากประเทศจีนในฤดูหนาวได้อย่างทั่วถึงและเต็มที่ ขณะเดียวกันที่ทิวเขาวางตัวเหนือใต้ ทำให้เสมือนกำแพงปิดกั้นลมมรสุมทางทิศตะวันออก รวมทั้งยังมีระดับความสูงเฉลี่ยบนยอดเขากับความสูงเฉลี่ยที่ผิวแตกต่างกันมาก และยังมีระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล จากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ในตอนกลางวันถูกอิทธิพลของแสงแดดเผาทำให้อุณหภูมิร้อนมาก และในตอนกลางคืนจะได้รับอิทธิพลของลมภูเขาพัดลงสู่หุบเขาทำให้อากาศเย็นในตอนกลางคืน


การปกครอง

          จังหวัดน่านมีประชากรทั้งหมด (ณ 31 มกราคม 2567) 472,518 คน แยกเป็นชาย 235,886 คน หญิง 236,632 คน แบ่งการปกครองเป็น 15 อำเภอ 99 ตำบล 891 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองน่าน อ.เวียงสา อ.ท่าวังผา อ.นาน้อย อ.นาหมื่น อ.ทุ่งช้าง อ.ปัว อ.แม่จริม อ.สันติสุข อ.บ่อเกลือ อ.สองแคว อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียงกลาง อ.บ้านหลวง และ อ.ภูเพียง

          การปกครองส่วนท้องถิ่นมี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 1 แห่ง เทศบาลเมืองจำนวน 1 แห่ง เทศบาลตำบล จำนวน 14 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 84 แห่ง


ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ

          สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดน่านในปี 2564 (GPP ปี 2564) พบว่าประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 81,233 บาทต่อปี โดยจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 35,674 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการบริการ 61.16% เกษตรกรรม 29.34 และอุตสาหกรรม 9.50%
     • พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดน่าน
              (1) ข้าวนาปี
              (2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
              (3) มันสำปะหลัง
              (4) ปาล์มน้ำมัน
              (5) ยางพารา
              (6) มะม่วง
              (7) ลิ้นจี่
              (8) ลำไย
              (9) เงาะ
              (10) ส้ม


ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด

          สินค้า OTOP ที่สำคัญและมีความเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ เครื่องเงิน ผ้าทอ และสินค้าเกษตรแปรรูป


ข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     • พื้นที่ป่า

          จากข้อมูลของกรมป่าไม้พบว่าในปี พ.ศ. 2519 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่อยู่ทั้งในและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งหมด 5,280,625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 73.65 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด พอถึงปี พ.ศ.2525 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่า 3,509,375 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.95 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ในปี พ.ศ.2532 เนื้อที่ป่าลดลงเหลือ 3,193,125 ไร่ หรือร้อยละ 44.53 เนื้อที่ถูกบุกรุกถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าของจังหวัดน่านคงเหลือประมาณ 3,008,125 ไร่ หรือร้อยละ 41.95 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ 99,110 ไร่ และอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 303,609 ไร่ ซึ่งการทำการเกษตรนิยมใช้การเผาพื้นที่ในการเตรียมพื้นที่

          มีเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ต.บ้านพี้ อ.บ้านหลวง และ ต.สะเนียน อ.เมืองน่าน

          พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจังหวัดน่าน จำนวน 16 ป่า รวมพื้นที่ 6,469, 571 ไร่

          มีวนอุทยาน 1 แห่ง คือ วนอุทยานถ้ำผาตูบ ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน

          มีอุทยาน 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติ

     • แม่น้ำ
          จังหวัดน่านมีแม่น้ำหลายสาย (น้ำสมุน น้ำเปือ น้ำกอน น้ำและ น้ำย่าง น้ำขว้าง น้ำยาว น้ำงาว น้ำว้า ฯลฯ) แต่ที่สำคัญที่สุดคือ น้ำว้าและน้ำน่าน โดยเฉพาะแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งรวมน้ำจากสายน้ำย่อยต่าง ๆ และมีความยาวถึง 740 กิโลเมตร ประกอบเป็น 1 ใน 4 แคว ของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำต่าง ๆ นี้ได้รับการรณรงค์ดูแลเรื่องการชะล้างมลภาวะอย่างต่อเนื่อง


ข้อมูลด้านสาธารณสุขจังหวัดน่าน

          จังหวัดน่านมีโรงพยาบาลและสถานพยาบาล ดังนี้

            - โรงพยาบาล 15 แห่ง

            - โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 124 แห่ง

            - สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 23 แห่ง

            - คลินิคทุกประเภท 59 แห่ง

            - ร้านขายยาทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบัน 88 แห่ง


ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี
 

     • ประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน

          ประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดมาแต่โบราณ แต่ก่อนได้กำหนดว่าให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงานตานก๋วยสลาก (ถวายทานสลากภัต) หมู่บ้านไหน วัดไหน จัดให้มีงานตานก๋วยสลาก ก็ให้มีการเชื้อเชิญหมู่บ้าน และวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนาน สมานสามัคคี งานตานก๋วยสลากกับการแข่งเรือ เป็นประเพณีคู่กันมาแต่โบราณ ทางราชการจึงถือเอางานตานก๋วยสลาก ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวงกลางเวียงของเมืองน่าน เป็นการเปิดสนามการแข่งขันเรือของน่านประมาณเดือนกันยายนในแต่ละปี และงานตานก๋วยสลากจะไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นการแข่งขันนัดปิดสนาม
 

     • ประเพณีหกเป็ง นมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง

          ประเพณีหกเป็งนมัสการองค์พระธาตุแช่แห้ง (ไหว้สาพระธาตุแช่แห้ง) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีตในช่วงฤดูเทศกาลเพ็ญเดือน 6 (เหนือ) เจ้าผู้ครองนครน่านพร้อมด้วยข้าราชการบริพานจะพากันไปนมัสการพระธาตุแช่แห้ง โดยในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ขบวนแห่ของเจ้าเมืองน่านพร้อมด้วยคณะสงฆ์และพุทธศานิกชนจากชุมชนต่างๆ จะมาพร้อมกันที่บริเวณรอบๆ เนินภูเพียงแช่แห้ง ร่วมพิธีทางศาสนาและกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพุทธบูชา จากพงศาวดารน่าน พญากานเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุวรรณะดั่งทอง วรรณะดั่งเงิน และวรรณะดั่งมุก พร้อมพระพิมพ์เงิน พิมพ์ทองอย่างละ 20 จากพญาลิไท แล้วนำไปบรรจุ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้ง โดยสร้างเจดีย์ครองไว้ จึงเป็นปฐมเหตุการณ์จัดงานหกเป็ง ดังนั้น ในทุก ๆ ปีจึงมีการจัดงานสักการะนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งเป็นประเพณีที่เจ้าผู้ครองนครน่านทุกยุคทุกสมัยถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเสมอมา โดยกำหนดว่าผู้ครองนครน่านต้องแต่งขบวนพร้อมน้ำสรงพระธาตุ ขึ้นสักการบูชาองค์พระธาตุทุกปี ภายหลังเมืองระบบเจ้านายยุติบทบาทลง คงเหลือแต่ระบบราชการบ้านเมือง เจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดจึงรับหน้าที่เป็นผู้เชิญน้ำสักการะและแต่งริ้วขบวนแห่เพื่อสักการะพระมหาธาตุเจ้าสืบมาจนถึงปัจจุบัน
 

     • งานประจำปีและของดีเมืองน่าน

          งานประจำปีและของดีเมืองน่าน จัดขี้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการผลิตภาคเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน(OTOP) ของท้องถิ่น อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นและชนเผ่าต่าง ๆ โดยจัดแสดงนิทรรศการตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน และจัดหารายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านสาธารณกุศลของเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน โดยได้เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ จัดแสดงนิทรรศการ อาทิ ผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ผลิตภัณฑ์ Creative และของดีเมืองน่าน การจัดแสดงผลงานพัฒนาการจัดทำผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและผ้าทอน่านต้นแบบใหม่เชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์ จัดแสดงผลงานการพัฒนาเครื่องประดับและผ้าทอ จัดแสดงDisplay สินค้าและบริการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์จังหวัดน่าน (น่านแบรนด์ และน่านแบรนด์พรีเมี่ยม) การสาธิตองค์ความรู้ด้านอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน young smart farmer จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Young Otop นอกจากนี้ยังมีการออกบูทของส่วนราชการ และอำเภอต่างๆในพื้นที่จังหวัดน่าน นำของดีของแต่ละอำเภอมาร่วมแสดงและจัดจำหน่ายให้เลือกชมและช็อปอีกด้วย

     • ประเพณีตานก๋วยสลาก

          การถวายก๋วยสลากจะเริ่มในราวเดือน 12 เหนือ(คือเดือน 10 ใต้ เดือนกันยายน) และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11 ใต้) การก๋วยสลาก(หรือบางแห่ง เรียกว่า ตานข้าวสลาก) สลากภัตของทางเมืองเหนือ เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นคุณปู่-ย่า/ตา-ยาย/พ่อ-แม่ และลูกหลานในปัจจุบัน เรื่องมีอยู่ว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีแก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์/สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา 


แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
 

     • วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง

          พระธาตุแช่แห้งเป็นศิลปะการก่อสร้าง ที่มีความวิจิตรงดงาม อีกแห่งหนึ่ง ของภาคเหนือ ที่เป็นศิลปะ การก่อสร้าง ที่ได้รับอิทธิพล การก่อสร้างมาจากเจดีย์พระธาตุหริภุณไชย โดยมีลักษณะโดยรอบๆ ของ องค์พระธาตุ คือจะมี การบุรอบองค์ ด้วยทองจังโกในส่วน ของทางเดิน ขึ้นสู่งองค์พระธาตุนั้น จะเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าลักษณะของการปั้น จะเป็นลายนาคเกี้ยวที่เป็น เอกลักษณ์เฉพาะของ ช่างฝีมือและของ ศิลปะ ของจังหวัดน่านโดยแท้จริง ชาวเมืองล้านนามีความเชื่อกัน ว่าการ ได้เดินทางไปสักการบูชากราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุแซ่แห้ง หรือชาวล้านนาจะเรียกกันว่า การชูธาตุ แล้วนั้นจะทำได้รับ อานิสงค์อย่างแรงกล้า ทำให้ชีวิตอยู่ดี มีสุข ปราศจากโรคภัยต่างๆ มาเบียดเบียน หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า เป็นต้น และหากใครที่จะเดินทางได้นมัสการองค์พระธาตุแซ่แห้ง นั้น สามารถเดินทางไปได้ทุกวัน ซึ่งจะเปิดให้เข้านมัสการตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
 

 

     • วัดภูมินทร์

          ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ใกล้กับพิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติน่าน เดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกันประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายโดยช่างฝีมือล้านนาสวยงามมาก นอกจากนี้ฝาผนังยังแสดงถึงชีวิตและ วัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมาตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครอง เมืองน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมือง เหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็น วัดภูมินทร์
 

 

     • ดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์

          เป็นจุดชมทิวทัศน์บนยอดหน้าผาสูง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ 360 องศา มีพื้นที่เป็นลานกว้างตามสันเขา สำหรับพักผ่อนและดูดาว ดูพระอาทิตย์ตก หากจะเดินขึ้นไปบนผาสิงห์ (เป็นหน้าผาที่มีรูปร่างคล้ายหัวสิงห์) ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางจากอุทยานฯ เส้นทางมีระยะ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางจะพบต้นจันทน์ผาซึ่งเป็นไม้เด่น และเมื่อท้องฟ้าแจ่มใส จากผาสิงห์สามารถมองเห็น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และแม่น้ำน่านได้
 

 

     • วัดศรีมงคล (ก๋ง)

          วัดศรีมงคล (ก๋ง) ตั้งอยู่ที่ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2395 พระสงฆ์ที่มีชื่อที่สุดของวัดนี้คือ หลวงปู่ก๋ง ด้านหลังวัดมีลานชมวิว ซึ่งมีทัศนียภาพที่งดงาม มองเห็นทุ่งนาเขียวขจี และทิวเขาของดอยภูคาเรียงรายสลับซับซ้อน โดยบริเวณลานชมวิว ทางวัดได้จัดทำเป็นซุ้มและจุดชมวิวให้ถ่ายภาพหลายจุด รวมถึงร้านกาแฟบรรยากาศไทยๆ ให้พักผ่อนหย่อนใจ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งวิหารหลวงที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม โดยเลียนแบบการวาดของหนานบัวผัน จิตรกรชาวน่านเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์และวัดหนองบัวของจังหวัดน่าน รวมถึงพิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี ซึ่งรวมรวมของโบราณต่างให้ได้ชม บรรยากาศโดยรอบของวัด เน้นตกแต่งแบบไทยล้านนา อนุรักษ์ของเก่าแก่ในอดีต ด้านหน้ายังเป็นที่ตั้งของกระท่อมไม้ไผ่ ชื่อว่าเฮือนมะเก่า ภายในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้โบราณ สามารถเข้าไปชมและถ่ายภาพได้
 

 

     • วังศิลาแลง

          วังศิลาแลง ได้รับการขนานนามให้เป็น “แกรนด์แคนยอนเมืองปัว” มีลักษณะเป็นธารน้ำไหลผ่านซอกหินผาที่มีลำน้ำกูนไหลผ่านและกัดเซาะจนเป็นร่องรอยตามการหมุนวนของน้ำ ประกอบด้วยวังน้ำและโตรกผาเป็นช่วงๆ โดยมีวังน้ำประมาณ 7 วัง รวมระยะทางมากกว่า 400 เมตร ในช่วงฤดูแล้งสีน้ำจะใสมองเห็นความสวยงามของวังน้ำและโตรกผาได้อย่างชัดเจนและสามารถเล่นน้ำได้
 

 

     • บ่อเกลือสินเธาว์

          “บ่อเกลือ” อำเภอหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีเรื่องราวและความน่าสนใจมากมายเสียจนเราต้องตั้งหน้าขับรถผ่านเส้นทางเลี้ยวลดคดเคี้ยวจากอำเภอเมืองมากว่า 80 กิโลเมตร เพียงเพราะอยากจะเห็นบ่อน้ำเกลือกลางหมู่บ้านที่ใช้ผลิต “เกลือสินเธาว์” เกลือภูเขาที่มีเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น


การคมนาคม

          จังหวัดน่านมีการคมนาคมที่สำคัญ คือ

     • รถยนต์

          เส้นทางรถยนต์มีทางหลวงแผ่นดินจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 ถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 77 จนถึงจังหวัดพิษณุโลก และใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และผ่านอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

     • เครื่องบิน

          (1) สายการบิน AirAsia จากกรุงเทพมหานคร - จังหวัดน่าน เส้นทาง ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง (DMK) - ท่าอากาศยานน่านนคร (NNT)

          (2) สายการบิน NokAir จากกรุงเทพมหานคร - จังหวัดน่าน เส้นทาง ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง (DMK) - ท่าอากาศยานน่านนคร (NNT)

 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 40,413